ประวัติและผลงาน
พระราชปริยัตยาลังการ
( วิชัย ฐิตาจาโร นธ. เอก, ป.ธ. ๔ )
ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์
๑. ภูมิหลัง
พระราชปริยัตยาลังการ สถานะเดิมชื่อ วิชัย นามสกุล รัตนรักษ์ เกิดเมื่อ วัน อังคาร ที่ ๓ เดือน กรกฎาคม พ. ศ. ๒๔๖๙ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๘ ปีขาล ณ บ้านเลขที่ ๖ หมู่ที่ ๑ บ้านบัว ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ บิดาชื่อ นายฤทธิ์ มารดาชื่อ นางน้อย ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้อง ๘ คน
๒. การศึกษา
พ. ศ. ๒๔๘๖ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านบัว ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์จังหวัดบุรีรัมย์
๓. บรรพชาอุปสมบท
ถัดจากนั้นมา ๔ ปี ก็ได้บรรพชา–อุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๖ ปีกุน ณ พัทธสีมาวัดบ้านบัว ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี
– พระครูธีรคุณาธาร(ธางค์) วัดอิสาณ เป็นพระอุปัชฌาย์
– พระครูธรรมปัญญา(เสน) วัดสว่างอารมณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
– เจ้าอธิการหรุ่น วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
โดยรับฉายาว่า “ฐิตาจาโร”
๔. การศึกษาพระปริยัติธรรม
แผนกธรรม
เมื่อได้บรรพชา-อุปสมบทแล้วท่านจะได้ไปจำพรรษา ณ วัดกลาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นต่างๆ ดังนี้
– พ.ศ. ๒๔๙๑ สอบได้นักธรรมชั้นตรี
– พ.ศ. ๒๔๙๒ สอบได้นักธรรมชั้นโท
– พ.ศ. ๒๔๙๓ สอบได้นักธรรมชั้นเอก
ในสนามสำนักศาสนศึกษาวัดกลาง สำนักเรียนคณะจังหวัดบุรีรัมย์
แผนกบาลี
เมื่อสอบได้นักธรรมชั้นเอกแล้วก็มีความประสงค์ที่จะศึกษาวิชาการชั้นสูงๆ ต่อไป โดยเฉพาะภาษาบาลี ท่านจึงได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ณ สำนักศาสนศึกษา วัดทินกรนิมิตร อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และสอบได้ ป.ธ.๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ และเมื่อสอบได้ ป.ธ.๓ แล้วก็ได้กลับมายังจังหวัดบุรีรัมย์
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยงานพระพุทธศาสนาในด้านการศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลีของจังหวัด ได้รับหน้าที่เป็น
– ครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี จังหวัดบุรีรัมย์
– พระธรรมทูตจังหวัดบุรีรัมย์
– พระนักเผยแผ่จังหวัดบุรีรัมย์
ได้สนองงานคณะสงฆ์จังหวัดบุรีรัมย์ทั้ง ๓ ส่วนนี้อย่างเต็มกำลังและความสามารถ โดยดำเนินการจัดการทางการศึกษา แผนกธรรม-บาลี ณ วัดบ้านบัว ช่วงนั้นงานการจัดการศึกษาและการพัฒนาวัดควบคู่กันไป แม้จะเป็นงานที่หนักอย่างไร ท่านก็ยังให้ความสนใจต่อการศึกษาภาษาบาลีอยู่เป็นอันมาก จนกระทั่งสามารถสอบได้ ป.ธ.๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ สำนักศาสนศึกษาวัดบ้านบัว สำนักเรียนคณะจังหวัดบุรีรัมย์
คุณวุฒิพิเศษ
– พ. ศ. ๒๕๔๗ ได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
– พ. ศ. ๒๕๔๙ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิชาธรรมนิเทศ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
รางวัลชีวิต
พ. ศ. ๒๕๔๒ ได้รับรางวัลเสมาธรรมจักร ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา
สาขาการส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์ เนื่องในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา
วันวิสาขบูชา ประจำปี ๒๕๔๒
พ. ศ. ๒๕๔๘ ได้รับโล่เกียรติคุณสำนักเรียนดีเด่น ประเภทนักธรรม ธรรมศึกษา
ในฐานะเจ้าสำนักเรียนคณะจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสอบได้อันดับที่ ๘ ของประเทศ
๕. หน้าที่การงานด้านการปกครอง
นับตั้งแต่ท่านได้กลับมาช่วยงานพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งด้านการจัดการศึกษา การเผยแผ่ และการพัฒนาต่างๆ โดยได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี พระธรรมทูตฝ่ายปฏิบัติการ พระนักเผยแผ่ และพระนักพัฒนาประจำจังหวัด
หลังจากสนองงานด้านนี้จนเป็นที่เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับแล้ว คณะสงฆ์จึงเสนอแต่งตั้งท่านให้ดำรง ตำแหน่งดังต่อไปนี้
๑. พ. ศ. ๒๕๐๕ เจ้าอาวาสวัดบ้านบัว
๒. พ. ศ. ๒๕๑๓ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองบุรีรัมย์
๓. พ. ศ. ๒๕๑๔ พระอุปัชฌาย์
๔. พ. ศ. ๒๕๑๕ รองเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์
๕. พ. ศ. ๒๕๓๒ ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์
๖. พ. ศ. ๒๕๓๓ เจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์
๖. สมณศักดิ์
๑. พ.ศ. ๒๕๑๖ พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษในพระราชทินนามที่ พระครูปริยัตยานุศาสน์
๒. พ.ศ. ๒๕๓๑ พระราชาคณะชั้นสามัญในพระราชทินนามที่ พระสุนทรปริยัติเมธี
๓. พ.ศ. ๒๕๓๗ พระราชาคณะชั้นราชในพระราชทินนามที่ พระราชปริยัตยาลังการ